เมื่อหางานจนได้เจอกับงานที่คิดว่าใช่ ตรงกับความสามารถที่มี พร้อมกับเงินค่าจ้างที่เหมาะสม ก็เข้าสู่ขั้นตอนการเตรียมสิ่งที่ต้องใช้ในการสมัครงาน
หากการสมัครครั้งนี้เข้าตาผู้จ้างงานก็จะมีการเรียกสัมภาษณ์งานในที่สุด แต่ขั้นตอนนี้แหละ ที่สร้างความกังวลให้กับหลายคน ทั้งกลัวตอบคำถามไม่ได้ ไม่รู้ว่าเขาจะถามอะไร และกลัวพูดไม่เข้าใจเพราะความประหม่า
บทความนี้ก็ได้รวมเคล็ดลับตั้งแต่สิ่งที่ต้องเตรียม การตอบคำถามต่างๆ รวมถึงเทคนิคลดความตื่นเต้น เพิ่มความมั่นใจให้การสัมภาษณ์งานผ่านไปได้ด้วยดี เพิ่มโอกาสในการได้งานมากขึ้น
หัวข้อในบทความนี้
- ขั้นตอน 1 เตรียมสิ่งที่ต้องใช้ในการสมัครงาน
- ขั้นตอน 2 การเขียนอีเมลและข้อความปะหน้าเพื่อสมัครงาน
- ขั้นตอน 3 คำถามที่พบบ่อยในการสัมภาษณ์งาน
- ขั้นตอน 4 เทคนิคลดความตื่นเต้น เพิ่มความมั่นใจ
- ขั้นตอน 1 เตรียมสิ่งที่ต้องใช้ในการสมัครงาน
ก่อนจะถึงขั้นตอนการสัมภาษณ์งาน ก็ต้องมีการยื่นสมัครงานที่สนใจกันก่อน มาเช็คสิ่งที่ควรเตรียมเพื่อใช้ในการสมัครงานทั่วๆ ไปกัน ว่ามีอะไรบ้าง
1. Resume
Resume เป็นส่วนแรกๆ ที่ผู้จ้างงานได้เห็นและมีส่วนในการตัดสินใจว่าจะเรียกสัมภาษณ์หรือไม่ จึงต้องแสดงคุณสมบัติที่ตัวเองมีอยู่ให้ครบถ้วน ตั้งแต่ทักษะ ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงาน และผลงานที่เคยทำ รวบรวมข้อมูลทั้งหมดให้ออกมาอยู่ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย
ข้อมูลที่ควรใส่ใน Resume จะขึ้นอยู่กับงานที่สมัคร ซึ่งแต่ละงานก็ใช้ข้อมูลและการตกแต่ง Resume แตกต่างกันไป ดังนั้น แนะนำให้เลือกแบบที่เหมาะสมกับงานที่ต้องการสมัครหรือตามที่บริษัทฯ ระบุกำหนดไว้ แต่โดยทั่วไปแล้ว Resume ควรมีข้อมูลต่อไปนี้ :
- รายละเอียดการติดต่อ : ใส่ชื่อ-นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ และอีเมลสำหรับติดต่อกลับ และยังสามารถเพิ่มโปรไฟล์เกี่ยวกับการทำงานเข้าไปได้ เช่น LinkedIn นอกจากนี้อาจจะใส่ที่อยู่ของเรา เพราะบางงานผู้ที่อยู่ใกล้ที่ทำงานหรือสามารถเดินทางได้สะดวก จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
- การแนะนำตัว : เล่าเส้นทางอาชีพที่เคยทำ เป้าหมายการทำงานและคุณสมบัติที่สำคัญที่คิดว่า “นี่แหละ จุดแข็งของฉัน” แบบกระชับ เข้าใจง่าย
- การศึกษาสูงสุด : ระบุชื่อสถานศึกษา ระดับการศึกษา ภาควิชา/วิชาเอก ปีที่จบการศึกษา และอาจจะใส่เกรดเฉลี่ยเข้าไปได้เช่นกัน และยังสามารถเพิ่มหลักสูตรที่เคยเรียนหรืออบรมได้ หากไม่มีประสบการณ์การทำงานที่ตรงกับตำแหน่งที่สมัคร
- ประสบการณ์ทำงาน : ระบุประสบการณ์ ชื่อบริษัทและปีที่เคยทำงาน ลิสต์ความรับผิดชอบหลักและความสำเร็จที่โดดเด่นจากงานที่เคยทำ
- ทักษะ : รวบรวมทักษะที่มีและเป็นประโยชน์กับการทำงาน แนะนำให้ระบุทั้ง Hard Skills และ Soft Skills เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีแค่ความรู้ ความเชี่ยวชาญเท่านั้น แต่ยังมีทักษะด้านอุปนิสัย ที่ช่วยแสดงให้เห็นว่าสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี
2. รูปถ่าย
สำหรับรูปถ่ายที่ใช้ในการสมัครงานทั่วไป ทั้งติดใบสมัคร ใช้ใน Resume ไปจนถึงใช้ในช่องทางออนไลน์ต่างๆ เช่น อีเมล หรือโปรไฟล์แอปพลิเคชั่นหางาน แนะนำให้ใช้เช็คลิสต์นี้สำหรับเลือกรูปถ่ายสมัครงานในเบื้องต้น
- มองตรงไปข้างหน้า ใบหน้าและลำตัวไม่เอนเอียง (เหมือนการถ่ายรูปติดบัตร)
- การยิ้มที่พอดี ช่วยให้ใบหน้าไม่บึ้งตึง
- มีแสงสว่างเพียงพอที่ทำให้เห็นใบหน้าชัดเจน
- ไม่ว่าจะผมยาวหรือผมสั้น ควรจัดแต่งทรงผมให้เรียบร้อย
- เลือกเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับงานที่สมัคร และมีขนาดพอดีกับผู้สวมใส่ ไม่ยับหรือมีรอยที่เห็นชัด
- สีพื้นหลังไม่ฉูดฉาดเกินไป
3. สำเนาใบรับรองผลการศึกษา (Transcript)
ปกติจะมีการใส่รายละเอียดการศึกษา ทั้งใบสมัครงาน หน้าโปรไฟล์แอปฯ หางาน หรือ Resume แต่ผู้จ้างงานอาจมีการขอเอกสารเพิ่มเติมเพื่อยืนยันความถูกต้อง
4. หนังสือรับรองการทำงาน (ถ้ามี)
เพิ่มความน่าเชื่อถือ ในกรณีที่ระบุว่ามีประสบการณ์การทำงาน
5. ผลคะแนนหรือการทดสอบที่เกี่ยวข้องกับงานที่สมัคร (ถ้ามี)
เพราะบางงานจำเป็นต้องใช้ทักษะด้านภาษา หรือต้องมีผลการทดสอบทักษะในสายอาชีพนั้นๆ
6. Portfolio
ในบางสายงาน เช่น ออกแบบกราฟิก หรือ Content Creator อาจต้องใช้ผลงานที่ผ่านมารวบรวมเป็น Portfolio (แฟ้มสะสมผลงาน) เพื่อนำเสนอกับผู้จ้างงาน เพิ่มความน่าสนใจและโอกาสในการได้งานมากขึ้น
และเอกสารราชการต่างๆ ที่ควรเตรียมไปเผื่อใช้ประกอบการสมัครในวันสัมภาษณ์งาน เช่น
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- ใบเปลี่ยนชื่อ- สกุล (ถ้ามี)
- ใบผ่านการเกณฑ์ทหาร (สำหรับเพศชาย)
- ขั้นตอน 2 การเขียนอีเมลและข้อความปะหน้าเพื่อสมัครงาน
การรับสมัครงานมีหลายช่องทาง หนึ่งในนั้นมีการส่งทางแชทข้อความและทางอีเมลรวมอยู่ด้วย นั่นแปลว่าจะต้องมีการเขียนข้อความปะหน้า ส่งไปพร้อมกับเอกสารไฟล์แนบต่างๆ แล้วข้อความปะหน้าควรระบุอะไรบ้าง
1. เริ่มต้นด้วยหัวเรื่องที่ชัดเจน
เมื่อมีการเปิดรับสมัครงาน ผู้จ้างจะได้รับอีเมลและข้อความเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน จึงต้องมีหัวเรื่องที่ชัดเจน ช่วยให้ผู้จ้างงานทราบว่าอีเมลนี้มีอะไรบ้าง
- ใบสมัครงาน [ชื่อ-นามสกุล] - [ตำแหน่งงานที่สมัคร]
ตัวอย่าง ใบสมัครงาน สมหมาย ใจดี - ตำแหน่ง Sales Admin
แต่ในบางครั้งก็มีการแจ้งว่าต้องใช้ประโยคไหนในการระบุหัวเรื่อง ในกรณีนี้สามารถทำตามที่ผู้จ้างงานกำหนดได้เลย
2. ใช้คำทักทายที่เป็นทางการและสุภาพ
พยายามคิดว่าใครจะได้รับอีเมลหรือข้อความนี้ ซึ่งสามารถหาได้โดยอ่านเงื่อนไขการสมัครงานอย่างละเอียด ดูเว็บไซต์ของบริษัท หรือติดต่อสอบถามบริษัทโดยตรง แต่ถ้าหาแล้วไม่พบข้อมูลจริงๆ ก็สามารถใช้คำแบบรวมๆ ได้ เช่น เรียน ผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ว่าจะเขียนถึงใครในการสมัครงาน ก็ต้องใช้ภาษาและคำที่สุภาพ
3. อธิบายจุดประสงค์ในการเขียน
ใช้ย่อหน้าแรกเพื่ออธิบายว่าทำไมจึงเขียนข้อความเหล่านี้ อาจจะระบุตำแหน่งงานที่สมัคร พูดถึงเหตุผลที่สนใจสมัครงานนี้ เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้จ้างงาน ไม่ให้โดนปัดทิ้งตั้งแต่ด่านแรก
4. พิสูจน์ว่าเราเหมาะสมกับตำแหน่งนี้
ย่อหน้ากลางควรระบุว่าเราเหมาะสมกับบริษัทและตำแหน่งงานนี้อย่างไร แชร์ทักษะ ประสบการณ์ และความสำเร็จต่างๆ ในเส้นทางการทำงานให้น่าสนใจ
5. กล่าวคำขอบคุณ
ขอบคุณผู้จ้างงานที่ใช้เวลาในการอ่านข้อความเหล่านี้ในย่อหน้าสุดท้าย และระบุว่ามี Resume และเอกสารการสมัครอื่นๆ แนบมากับข้อความนี้ สุดท้ายแนะนำให้จบด้วยประโยคในลักษณะ 'ผม/ดิฉันหวังว่าจะได้รับการตอบกลับจากคุณ และมีโอกาสได้พูดคุยรายละเอียดของการทำงานนี้เพิ่มเติม' เพื่อแสดงความในการอยากทำงานนี้จริงๆ
6. ส่วนปิดท้ายก็สำคัญ
ลงท้ายด้วยข้อความปิด เช่น ขอแสดงความนับถือ พร้อมลงชื่อด้วยชื่อเต็มของเรา และใส่ข้อมูลติดต่อกลับด้านล่าง ทั้งอีเมล เบอร์โทรศัพท์ หรือลิงก์ Portfolio
แอปพลิเคชั่น Workmate ช่วยให้การหางานและสมัครงานง่ายขึ้น
เพียงกรอกข้อมูลส่วนตัวและประวัติการทำงานต่างๆ ตามขั้นตอน
- ไม่ต้องเสียเวลาค้นหาว่าต้องใช้อะไรบ้าง สามารถดูรายละเอียดงานและกดสมัครงานได้ทันที
- การันตีเลยว่าจะได้รับค่าแรงที่เหมาะสมกับงาน
- มีระบบตรวจสอบทุกงานที่โพสต์บนแพลตฟอร์ม เชื่อถือได้ ปลอดภัย 100%
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม>
เริ่มต้นหางาน คลิก>
- ขั้นตอน 3 คำถามที่พบบ่อยในการสัมภาษณ์งาน
หลายคนมีความกังวลในการสัมภาษณ์งาน เพราะไม่รู้ว่าจะต้องเจอคำถามอะไรบ้าง วันนี้เวิร์คเมทจึงเตรียม 5 คำถามที่พบกันบ่อยๆ ในวันสัมภาษณ์ มาให้ทุกคนได้ฝึกตอบกัน แต่สิ่งสำคัญที่ควรมีในการตอบคำถามสัมภาษณ์งาน คือ การตอบด้วยความสุภาพและจริงใจที่สุด
1. ให้แนะนำตัวเอง
เป็นหนึ่งในคำถามแรก ๆ ที่มักจะถูกถาม พยายามตอบแบบไม่เน้นข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป อาจเริ่มต้นด้วยการแชร์ความสนใจและประสบการณ์ที่ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับงาน เช่น งานอดิเรก หรือเรื่องราวสั้นๆ เกี่ยวกับการเติบโต การศึกษา และแรงบันดาลใจของคุณ และตามมาด้วยประสบการณ์การทำงาน ที่ทำให้ผู้จ้างงานเห็นว่าเราเหมาะสมกับตำแหน่งนี้
2. ทำไมต้องการทำงานนี้ ถ้าได้รับการจ้างงานอยากทำอะไรบ้าง
คำถามสัมภาษณ์งานข้อนี้ เปิดโอกาสให้ได้พูดถึงงานและบริษัทที่สมัคร แนะนำให้ศึกษาข้อมูลบริษัท ผลิตภัณฑ์ บริการ วัฒนธรรมองค์กร และพันธกิจของบริษัทอย่างละเอียด เพื่อใช้ในการตอบว่าการทำงานของเราสามารถพัฒนาบริษัทไปในทิศทางไหนได้บ้าง และมีทักษะอะไรที่ทำให้สามารถทำงานนี้ได้อย่างดี
3. ทำไมลาออกจากที่ทำงานเก่า
แนะนำให้ตอบแบบตรงไปตรงมา แต่พยายามตอบให้เป็นในเชิงบวก เช่น วัฒนธรรมองค์กรไม่เข้ากับสไตล์การทำงาน หรือได้รับงานเยอะเกินที่จะทำคนเดียวไหม ทำให้สุขภาพแย่ลง เป็นต้น
นอกจากผู้จ้างงานจะได้ทราบแล้วว่าเราอยากทำงานจริงหรือไม่ และมีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้อยากลาออก ยังทำให้รู้ด้วยว่าที่นี่เหมาะกับเรามากแค่ไหน หากจะทำงานในระยะยาว
แม้จะลาออกด้วยเหตุผลที่ไม่ดี ทั้งเรื่องงาน เรื่องหัวหน้า หรือเพื่อนร่วมงาน ก็ไม่ควรเล่าแบบลงรายละเอียดมากเกินไปในเวลาสัมภาษณ์นี้ ควรทำให้สั้น เข้าใจง่ายและกระชับที่สุด
4. จุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเองมีอะไรบ้าง
ผู้จ้างงานมักจะถามเพื่อพิจารณาว่า เราเหมาะสมกับตำแหน่งนี้มากน้อยแค่ไหน
- สำหรับจุดแข็ง แนะนำให้พูดถึงทักษะที่โดดเด่นและเหมาะสมกับงานนั้นๆ แต่การพูดแค่นี้อาจจะไม่น่าเชื่อถือ ก็เสริมด้วยประสบการณ์การทำงานที่ใช้ทักษะเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่ามันเป็นจุดแข็งของเราจริงๆ
- มีจุดแข็งแล้วก็ต้องมีการถามเรื่องจุดอ่อน แนะนำให้ตอบตามความจริง แต่เป็นในเชิงบวกเช่นเคย หลังจากบอกแล้วให้ตามด้วยแนวทางที่เราพยามยามปรับปรุงสิ่งนี้อยู่ หรือวิธีรับมือที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงการต้องการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ
5. จัดการกับความเครียด ความกดดันจากการทำงานอย่างไร
หลีกเลี่ยงการตอบว่า ทำงานไม่เคยเครียด ไม่เคยกดดันเลย เพราะการทำงานจริงคงหนีไม่พ้นอุปสรรค เจอการทำงานที่ไม่ราบรื่น ปัญหามีตั้งแต่เล็กจนถึงใหญ่ เพียงยอมรับว่ามีความเครียดในที่ทำงานจริง และอธิบายว่าปกติแล้วเรารับมือและเอาชนะมันได้อย่างไร
นอกจากนี้ ในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ ผู้จ้างงานมักจะถามว่ามีคำถามเกี่ยวกับงานและบริษัทหรือไม่ ดังนั้น อย่าลืมเตรียมคำถามโดยใช้การสื่อสารที่สุภาพ อยากรู้เรื่องไหน ควรถามเพื่อคลายข้อสงสัย ไม่ต้องเก็บไปคิดเองหรือกังวลหลังจากนี้
- ขั้นตอน 4 เทคนิคลดความตื่นเต้น เพิ่มความมั่นใจ
สิ่งที่ช่วยเรื่องนี้ได้ดี คือ การปรับเปลี่ยน Mindset และมุมมองที่มีต่อการสัมภาษณ์งาน
รับชมเทคนิคในการสัมภาษณ์งานเพิ่มเติมได้ที่ > สัมภาษณ์งานด้วย mindset แบบนี้ เราจะสบายใจ!
- ด้วยความอยากได้งาน เราจะยอมเกือบทุกอย่างเพื่อให้ผู้จ้างงานเลือก แนะนำให้เปลี่ยนมุมมองว่า ทั้งตำแหน่งงาน สถานที่ ผู้คน รายละเอียดงาน เป็นสิ่งที่เราอยากทำในระยะยาวหรือไม่ นอกจากผู้จ้างงานจะเลือกเราแล้ว เราก็เป็นคนเลือกงานนี้ด้วยเช่นกัน เพราะการจะสมัครงานต้องดูแล้วดูอีก ว่าความสามารถและทักษะที่มีเหมาะกับงานนี้และอยากทำจริงๆ
หากคิดอย่างนี้จะทำให้การสัมภาษณ์งานกลายเป็นโทนพูดคุย แต่ยังคงใช้คำพูดที่สุภาพเหมาะกับการสัมภาษณ์งาน
- ตอบตัวเองด้วยความบริสุทธิ์ใจว่า ทำไมจึงมาสมัครตำแหน่งนี้ เช่น สมัครเพราะความสามารถถึง เราขยันมาก มีประสบการณ์ มีศักยภาพ สิ่งนี้จะทำให้เกิดความมั่นใจและมีความมุ่งมั่นมากขึ้น ไม่กังวลหรือกลัวว่าคนที่เก่งกว่าจะได้งานนี้ไป
Tips สร้างความประทับใจในวันสัมภาษณ์งาน
- แต่งตัวด้วยชุดที่ใส่แล้วมั่นใจที่สุด แต่ยังคงความสุภาพไว้ ไม่เยอะหรือน้อยเกินไปและตรงกับที่ผู้จ้างงานกำหนด
- มีความตรงต่อเวลา เพราะคงไม่มีใครอยากไปสายตั้งแต่วันสัมภาษณ์งาน อาจจะไปก่อนเวลานัดหมาย 10-15 นาที และหากไม่เคยไปสถานที่สัมภาษณ์งาน ให้ลองไปสักครั้งก่อนเพื่อดูว่าอยู่ตรงไหน และใช้เวลาเท่าไหร่ในการเดินทาง
บทสรุป : ใช้ทัศนะคติเชิงบวกและความจริงใจเป็นหลัก
ทุกขั้นตอนในการสมัครงาน สิ่งสำคัญที่ต้องมีเลยคือ การมีทัศนคติเชิงบวกและความจริงใจ ทั้งการสบตา รอยยิ้ม และการสื่อสาร การพูดคุย ว่าถ้ารับเข้าทำงาน เราจะให้อะไรแก่ผู้จ้างงานได้บ้าง แสดงให้เห็นว่าเราเหมาะสมจะทำงานตำแหน่งนี้จริงๆ จะเพิ่มโอกาสในการได้งานมากขึ้น