แชร์เคล็ดลับวิธีเก็บเงิน หมดปัญหาเงินไม่พอใช้ เก็บไม่เก่งก็เอาอยู่
การวางแผนเก็บเงินที่ดี จะช่วยให้เหลือเงินใช้จ่ายยามฉุกเฉิน ใช้เงินได้แบบไม่เดือดร้อน ไม่ต้องไปหยิบยืมคนอื่นหรือกู้เงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แม้เงินเดือนไม่เยอะ ก็สามารถเริ่มออมแบบน้อยๆ ได้ เพียงมีความมุ่งมั่น ลงมือทำจริงและฝึกวินัยการใช้เงิน ก็นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีนะ
ในบทความนี้จะมีทั้งเคล็ดลับวิธีเก็บเงิน และเครื่องมือที่ช่วยให้คนเก็บเงินไม่เก่งสามารถเก็บเงินได้ดีขึ้น
หัวข้อในบทความนี้
- เคล็ดลับวิธีเก็บเงิน ที่คนเก็บเงินไม่เก่งก็ทำตามได้
- แนะนำแอปพลิเคชั่นที่ช่วยให้การเก็บเงินง่ายขึ้น
- เคล็ดลับวิธีเก็บเงิน ที่คนเก็บเงินไม่เก่งก็ทำตามได้
ก่อนจะไปที่เคล็ดลับต่างๆ อันดับแรกต้องสร้างแรงจูงใจให้ตัวเอง เมื่อตั้งใจจะเก็บออมก็ต้องมีวินัยมากขึ้น รวมทั้งเป้าหมายก็ต้องเป็นสิ่งที่ทำได้จริง หากใหญ่เกินกำลัง เมื่อทำไปสักระยะอาจจะเหนื่อยจนท้อ ทนไม่ไหวและเลิกทำไปในที่สุด
เคล็ดลับวิธีเก็บเงิน ที่คนเก็บเงินไม่เก่งก็ทำตามได้ สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของแต่ละคนกันได้เลย
1. หักออมก่อนใช้จ่าย
เมื่อได้เงินมา หลายคนมักคิดว่าขอจ่ายก่อน เหลือเท่าไหร่ค่อยออม ซึ่งมีน้อยคนมากที่จะทำได้จริง เพราะสุดท้ายจบที่จ่ายหมด จนไม่ได้เริ่มเก็บเงินสักที แนะนำให้เปลี่ยนมาใช้สมการ :
- รายได้-เงินออม=เงินสำหรับใช้จ่าย
และอีกปัจจัยหลักที่ทำให้หลายคนไม่ได้เริ่มเก็บเงิน นั่นคือ การมีหนี้สินหรือมีค่าใช้จ่ายมาก ถ้าอยากเริ่มเก็บเงินจริงๆ ให้ลองบังคับตัวเองว่า เงินไม่พอก็จะออม เพราะการเก็บเงินไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยเงินเยอะๆ ให้ออมเท่าที่ไหวและใช้ความสม่ำเสมอเข้ามาช่วย
- หากมีภาระค่าใช้จ่ายมาก อาจเริ่มเก็บที่ 2-3% ของรายได้ (แต่แนะนำให้ออมขั้นต่ำ 500 บาท เพราะถ้าต่ำกว่านั้นอาจดูน้อยเกินไปจนเหมือนไม่ได้เก็บเงิน)
- หากมีภาระค่าใช้จ่ายน้อย แนะนำให้เริ่มเก็บที่ 10% ของรายได้ เช่น รายได้ 10,000 บาท ให้เก็บออม 1,000 บาท
ให้นำเงินเหล่านี้ไปไว้ในที่ๆ เอาออกมาใช้ได้ยาก ป้องกันการเผลอเอาเงินส่วนนี้มาใช้จ่าย เช่น
- การฝากในบัญชีธนาคารที่ไม่ได้ผูกกับ Mobile Banking หรือบัตร ATM
- การฝากเงินในบัญชีเงินฝากประจำ หรือลงทุนในรูปแบบต่างๆ โดยใช้วิธีตัดเงินจากธนาคารอัตโนมัติในวันที่ได้รับเงินค่าจ้าง
Tips :อย่างคำกล่าวที่ว่า "ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง" จึงควรทำการประเมินความเสี่ยงที่รับได้ก่อนลงทุน และต้องศึกษาการลงทุนนั้นๆ ให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งและคอยอัปเดทข้อมูลอยู่เสมอ ไม่ควรลงทุนในสิ่งที่ไม่รู้หรือไม่เข้าใจ
2. วางแผนการใช้จ่ายให้ชัดเจน
บ่อยครั้งที่ตั้งใจจะซื้อของแค่ไม่กี่อย่าง แต่สุดท้ายกลับได้ของที่ไม่ได้อยู่ในลิสต์มามากมาย นั่นเพราะไม่ได้มีการวางแผนการใช้จ่ายให้ชัดเจนนั่นเอง
อาจเริ่มวางแผนด้วย การทำงบรายรับ-รายจ่ายล่วงหน้า จะทำให้เห็นว่าในเดือนนี้ต้องใช้จ่ายอะไรบ้างและใช้ได้กี่บาท ซึ่งการใช้จ่ายทั้งหมดต้องพยายามควบคุมให้อยู่ภายใต้รายได้ ตอนสิ้นเดือนก็สามารถกลับมาดูได้ว่า ทำตามแผนที่กำหนดไว้ได้หรือไม่และมีจุดไหนที่ต้องปรับปรุง
การวางแผนล่วงหน้ามีประโยชน์มาก โดยเฉพาะกับผู้ที่ได้รับค่าจ้างแบบรายวันและรายสัปดาห์ จะทำให้เห็นได้ชัดขึ้นว่าในแต่ละวันสามารถใช้จ่ายได้กี่บาท และต้องเก็บเงินเท่าไหร่สำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เป็นรายเดือน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน
3. ไม่ควรสร้างภาระหนี้สินเกินความจำเป็น
ระมัดระวังการใช้สินเชื่อ โดยเฉพาะหนี้ที่นำมาใช้ในการบริโภค เช่น บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด เพราะเมื่อมีหนี้สินที่ต้องจ่ายมาก นั่นเท่ากับว่าเงินที่สามารถออมได้ก็ลดลงไปด้วย
หากจะใช้สินเชื่อ ควรเช็คให้มั่นใจจริงๆ ว่าจะมีเงินจ่ายคืน เพราะหนี้เหล่านี้ก็เหมือนการนำเงินในอนาคตมาใช้ก่อน เราสามารถให้ความสุขตัวเองโดยการใช้ของฟุ่มเฟือยได้ แต่ต้องไม่เกินกำลัง ไม่เกินตัว เพราะสุดท้ายจากความสุขจะเปลี่ยนเป็นทุกข์และเครียดแทนนะ
4. ระวังค่าใช้จ่ายจากความเสี่ยงต่างๆ
เช่น ความเสี่ยงด้านสุขภาพ การเจ็บป่วย การเกิดอุบัติเหตุ ทั้งที่จะเกิดกับตัวเองและเกิดกับผู้ที่อยู่ในการดูแลของเรา เพราะเมื่อเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น มักจะตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่เยอะ หากไม่ได้เตรียมตัวหรือวางแผนไว้ล่วงหน้า จะนำมาสู่ความเครียดและเดือดร้อนเรื่องเงินได้
เพื่อป้องกันการจ่ายเงินก้อนใหญ่จากความเสี่ยงเหล่านี้ แนะนำให้ทำประกันต่างๆ ไว้ ไม่ว่าจะเป็นประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต ฯลฯ ซึ่งมีให้เลือกมากมายหลายแผน สามารถเลือกทั้งเรื่องเบี้ยจ่ายและการคุ้มครองที่เหมาะกับเราได้
5. ใช้วิธีเก็บเงินที่ทำให้การออมเป็นเรื่องสนุก
เช่น การเก็บธนบัตรใบละ 50 บาท ทุกครั้งที่ได้มา เพราะเป็นธนบัตรที่ได้รับไม่บ่อยนัก หรือถ้ารู้สึกว่าเยอะเกินไป ก็สามารถปรับเปลี่ยนกติกาให้เข้ากับชีวิตตัวเองได้ อาจจะปรับเป็นเก็บเหรียญ 5 บาทหรือ 10 บาทแทน
หรือใช้วิธี เก็บภาษีตัวเอง 10 % ทุกครั้งที่ใช้จ่ายกับสิ่งที่ไม่จำเป็น หรือเกิน 200 บาท นอกจากจะได้เก็บเงินแล้ว ยังได้เตือนตัวเองเกี่ยวกับการใช้จ่ายอีกด้วย
ตัวอย่าง กินชาบูราคา 500 บาท เก็บภาษีตัวเอง 10% ของ 500 บาท คือ 50 บาทนั่นเอง
รับชมความรู้การวางแผนด้านการเงินเพิ่มเติมได้ที่ THE MONEY COACH
- แนะนำแอปพลิเคชั่นที่ช่วยให้การเก็บเงินง่ายขึ้น
หลังจากได้เคล็ดลับวิธีเก็บเงินไปแล้ว ก็ต้องตามมาด้วยเครื่องมือที่ช่วยให้สนุกและมีวินัยในการเก็บเงินมากขึ้น ในบทความนี้ขอยกแอปพลิเคชั่นยอดฮิต เป็นที่นิยมในกลุ่มคนที่กำลังเก็บเงินและวางแผนการเงิน มาดูกันว่าจะมีอะไรบ้าง
1. Money Lover เปลี่ยนเรื่องวางแผนการเงินส่วนบุคคลให้เป็นเรื่องง่าย
ฟังก์ชันที่น่าสนใจ
- มีการจัดหมวดหมู่ชัดเจนและเพิ่มตามความต้องการได้ เช่น ค่าใช้จ่าย-มีหมวดอาหาร การเดินทาง ค่าไฟฟ้า หรือ รายได้-มีหมวดเงินเดือน รายได้อื่นๆ และยังมีไอคอนประกอบหมวดหมู่น่ารักๆ ให้เลือกใช้ ทำให้ไม่น่าเบื่อ
- มีกราฟและแผนภูมิรายงานการเงินที่ดูง่าย เห็นภาพชัดว่าได้รับเงินจากช่องทางไหน และใช้จ่ายไปกับค่าอะไรบ้าง
- มีโหมดธุรกรรมที่เกิดซ้ำ จะแจ้งเตือนค่าใช้ที่เกิดซ้ำ โดยเลือกความถี่ได้ตั้งแต่ทุกวัน ไปจนถึงทุกปี และยังลงรายละเอียดได้ว่าเป็นทุกวันที่เท่าไหร่ หรือให้เตือนตลอด
- Goal Wallet ที่แยกไว้สำหรับการออมโดยเฉพาะ ติดตามการเก็บเงินเพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมาย
- Credit Wallet เป็นวอลเล็ทสำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อ เพื่อให้เห็นยอดใช้จ่าย และเตือนเมื่อถึงกำหนดชำระ
- มีโหมดวางแผนงบการเงิน เพื่อให้เห็นรายรับ-รายจ่ายล่วงหน้าได้ชัดเจนขึ้น
ราคา ฟรี แต่ถ้าต้องการใช้ฟังก์ชันเพิ่มเติม เช่น เพิ่มวอลเล็ท ไอคอน ฟังก์ชันการช่วยวางแผนอื่นๆ หรือปรับเป็นบัญชีพรีเมี่ยม สามารถซื้อเพิ่มเติมภายในแอปฯ ได้
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Money Lover
2. Wallet Story การเริ่มต้นวางแผนการเงินที่ง่ายที่สุด
ฟังก์ชันที่น่าสนใจ
- มีหมวดหมู่ที่ครอบคลุมทุกธุรกรรม เช่น ค่าใช้จ่าย-มีหมวดอาหาร ถูกยืม การศึกษา หรือ รายได้-มีหมวดเงินเดือน ได้รับคืน ยืมเงิน ซึ่งสามารถปรับแต่งหมวดหมู่ย่อยลงไปได้อีก และมาพร้อมไอคอนน่ารักๆ เพิ่มความน่าใช้มากขึ้น
- รายงานสรุปทางการเงิน แสดงผลข้อมูลได้ทั้งรูปแบบตาราง กราฟหรือแผนภูมิ ทำให้เห็นภาพรายได้-ค่าใช้จ่ายได้หลายมุมมอง
- มีสรุปรายรับ-รายจ่ายในรูปแบบปฏิทิน ทำให้เห็นภาพรวมการเงินของแต่ละวัน
- สามารถบันทึกรายการสินเชื่อ ทั้งการชำระ การผ่อนจ่ายและแสดงยอดคงเหลือที่ยังใช้ได้
- สามารถกำหนดธุรกรรมที่เกิดขึ้นเป็นประจำให้ถูกสร้างแบบอัตโนมัติได้ เช่น ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ต้องจ่ายทุกเดือน
ราคา ฟรี แต่ถ้าต้องการปลดล็อกความสามารถเพิ่มเติม เช่น รายงานสรุปขั้นสูงในเวอร์ชัน Pro สามารถซื้อเพิ่มเติมภายในแอปฯ ได้
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Wallet Story
เก็บเงินได้มากขึ้นจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น
ด้วยการหางานรายได้ดี ที่แอปพลิเคชั่น Workmate
- สามารถดูรายละเอียดงานและกดสมัครงานได้ทันที
- การันตีเลยว่าจะได้รับค่าแรงที่เหมาะสมกับงาน
- มีระบบตรวจสอบทุกงานที่โพสต์บนแพลตฟอร์ม เชื่อถือได้ ปลอดภัย 100%
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม >
เริ่มต้นหางาน คลิก>
บทสรุป : เมื่อตั้งใจจะเก็บออมก็ต้องมีวินัย
แต่ละคนมีวิถีการใช้ชีวิตที่ต่างกัน ทำให้การใช้เงินแตกต่างกันไปด้วย จึงควรเลือกสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง เริ่มต้นเท่าที่ไหว เพื่อจะได้ทำต่อไปนานๆ แบบต่อเนื่อง นอกจากเครื่องมือและตัวช่วยต่างๆ แล้ว สิ่งที่ทุกคนควรมีเหมือนกัน ไม่ว่าจะเริ่มเก็บน้อยหรือเริ่มเก็บมาก คือ วินัยและความมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จตามเป้าหมาย